2.19.2553

คดีฆาตกรรมดังของ O. J. Simpson

คดีที่สะเทือนความรู้สึกมากๆ คดีหนึ่งของคนอเมริกันและชาวลอสแองเจลิส เมื่อปี 1994 นั่นคือ O. J. Simpson นักอเมริกันฟุตบอลชื่อดังในขณะนั้น ถูกกล่าวหาว่าฆาตกรรม นิโคล บราวน์ ซิมสัน Nicole Brown Simpson ภรรยาเก่าของเขา และ เพื่อนชายของเธอ โรนัลด์ โกลด์แมน Ronald Goldman

Orenthal James "O.J." Simpson เกิดเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 1947 โดยทั่วไปรู้จักกันในชื่อโอเจ (O.J. ศัพท์แสลงอเมริกาจะหมายถึงน้ำส้ม โอเจก็เลยมีชื่อเล่นว่า The Juice ด้วย) ซิมป์สันมีช่วงชีวิตอันรุ่งเรืองที่สุดในขณะที่เขาเป็นนักกีฬาอเมริกันฟุตบอล ในขณะที่เขายังอยู่ในทีมของมหาวิทยาลัย เขาก็ได้รับรางวัล The Heisman Trophy, The Maxwell Award และThe Walter Camp Award ในปี 1968 ซึ่งเมื่อเรียนจบในปี 1969ชื่อของเขาก็เป็นชื่อแรกที่ถูกชี้ตัวในการคัดสรรตัวนักกีฬาของ NFL

NFL ใช้ระบบให้ทีมที่ทำคะแนนไว้ต่ำที่สุดมีสิทธิ์ก่อนในการเลือกนักกีฬาเข้าทีม ซิมป์สันจึงกลายมาเป็นนักกีฬาของ Buffalo Bills ซึ่งเป็นทีมที่อ่อนแอที่สุดในเวลานั้น (ผลการแข่งในปีก่อน ชนะ1 แพ้12 เสมอ1) ปี 1973 ซิมป์สันทำลายสติถิด้วยระยะการวิ่ง 2003 ยาร์ดและเขาก็เป็นนักกีฬาเพียงคนเดียวจนทุกวันนี้ที่วิ่งมากกว่า 2000 ยาร์ดในการแข่งติดต่อกัน 14 นัด ชื่อของเขาโดดเด่นขึ้นมาในฐานะนักกีฬา MVP และกลายมาเป็นทีมบุกที่แข็งแกร่งที่สุด บัฟฟาโลบิลส์ยังคงทำคะแนนการแข่งได้ไม่ดีนัก แต่ก็มีซิมป์สันนี่เองที่เป็นตัวเรียกแฟนเอาไว้

ตลอดชีวิตนักกีฬา ซิมป์สันทำสติถิการวิ่งไว้ 11,236 ยาร์ด ได้รับรางวัล All-Pro Honor 5 ครั้ง ได้รับเลือกให้เข้าร่วม Pro-Bowl 6 หนปี 1978 เขาเซ็นสัญญาย้ายไปอยู่ San Francisco 49ers หากในปีถัดมาเมื่อวันที่ 23 มกราคม 1979 ก็ประกาศถอนตัวจากการเป็นนักกีฬาอเมริกันฟุตบอล และในปี 1985 ก็ได้รับเลือกให้มีชื่อยู่ใน The Pro Football Hall of Fame

ซิมป์สันแต่งงานครั้งแรกกับ Marguerite L. Whitley เมื่อปี 1967 ทั้งสองมีลูกด้วยกัน 3 คนซึ่งลูกสาวคนเล็กจมน้ำตายในสระน้ำที่บ้านก่อนจะอายุครบสองปี และซิมป์สันก็หย่าขาดจากมาเกอริทในปี 1979
ปี 1985 ซิมป์สันแต่งงานใหม่กับ Nicole Brown พวกเขามีลูกด้วยกัน2 คน ปี 1989 ซิมป์สันถูกฟ้องในคดีใช้ความรุนแรงในครอบครัวและแยกกันอยู่กับนิโคลเป็นเวลาหลายปี ก่อนจะหย่าขาดจากในกันในปี 1992 และในวันที่ 13 มิถุนายน 1994 นิโคล บราวน์ และโรนัลด์ โกลด์แมน(Ronald Goldman) เพื่อนของเธอก็ถูกพบเป็นศพถูกแทงเสียชีวิตที่บ้านพักของนิโคลในเขตบันดี้ไดรว์เบนต์วู้ด รัฐแคลิฟอร์เนีย จากหลักฐานที่พบในที่เกิดเหตุทำให้ตำรวจเชื่อว่าโอเจ ซิมป์สันนี่เองที่เป็นคนร้ายในคดี ขณะนั้นซิมป์สันอยู่ที่ชิคาโก้ ซึ่งเมื่อได้รับการติดต่อจากตำรวจ เขาก็ขึ้นเครื่องมายังแคลิฟอร์เนีย ทันทีที่เขาลงจากเครื่องบิน เขาก็ถูกใส่กุญแจมือทันควัน หากโดยความช่วยเหลือของฮาวาร์ด ไวส์แมนซึ่งเป็นทนายประจำตัวก็ทำให้ซิมป์สันได้รับการปล่อยตัวในไม่ช้า

ในตอนแรก ซิมป์สันยังจัดการเรื่องราวต่างๆด้วยท่าทีใจเย็น แต่แล้วในวันที่ 17 มิถุนายน เขาก็ขับรถหนีไปตามแคลิฟอร์เนียไฮเวย์โดยที่มีรถตำรวจขับไล่จี้มาและถูกจับในท้ายที่สุดในฐานะนักโทษคดีฆาตกรรมระดับ 1 การไล่ล่าดังกล่าวนี้ถูกถ่ายทอดสดออกโทรทัศน์และผู้ชมบางคนถึงกับส่งเสียงเชียร์ซิมป์สัน กระทั่งการแข่ง NBA Finals ก็ยังถูกลืมเลือนไปในขณะที่ผู้ชมเฝ้าติดตามการไล่ล่านี้อย่างใกล้ชิด

การขึ้นศาลอาญาของซิมป์สันเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายนซึ่งซิมป์สันยืนกรานว่าตัวเองบริสุทธิ์ 100%ที่น่าสนใจก็คือทั้งฝ่ายทนายจำเลยและฝ่ายอัยการต่างก็ถูกคัดสรรมาจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมายทั่วอเมริกาจนศาลนี้ถูกยกให้เป็นคดีแห่งยุค และไม่ว่าจะมองจากสายตาใคร ต่างก็เห็นได้ว่าฝ่ายทนายจำเลยซึ่งถูกตั้งฉายาว่า"ดรีมทีม"นั้นยิ่งมีคุณภาพสูงยิ่งกว่าฝ่ายอัยการเสียอีก แต่ละคนต่างก็เคยรับผิดชอบในคดีที่มีชื่อเสียงของอเมริกามาแล้วทั้งสิ้น ซึ่งซิมป์สันต้องจ่ายค่าใช้จ่าย 4 ล้านดอลล่าร์เป็นค่าทนายในคดีนี้

ฝ่ายอัยการ
- มาร์เซีย คลาร์ก (หัวหน้าทีม)
- กิล การ์เซ็จ
- วิลเลี่ยม ฮอจแมน
- คริสโตเฟอร์ ดาร์เดน
- ไบรอัน เคลเบิร์ก
- ลิซ่า คานส์

"ดรีมทีม" ทนายฝ่ายจำเลย

- จอห์นนี่ คอชรัน (หัวหน้าทีม - ผู้เชี่ยวชาญคดีเหยียดสีผิวอันดับหนึ่งของอเมริกา เคยรับผิดชอบคดีไมเคิ่ล แจ็คสัน)
- เฮนรี่ ลี (นักวิชาการแพทย์ศาสตร์ชาวจีน เคยรับผิดชอบคดีลอบสังหารจอห์น F. เคเนดี้ และคดีฆาตกรรมจอนเบเน็ต)
- โรเบิร์ต ชาปีโร (มีชื่อเสียงว่าเป็นทนายอันดับหนึ่งของอเมริกา เคยรับผิดชอบคดีดาราหลายคดี)
- บาร์รี่ เชค (นักวิชาการด้านการวิเคราะห์ DNA)
- ปีเตอร์ นิวฟิลด์ (นักวิชาการด้านการวิเคราะห์ DNA)
- เจรัลด์ วูลเมน (คหบดีคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยซานต้าคราล่า)
- ฟรานซิส ลี เบย์เลย์ (เคยรับผิดชอบคดีอลิซาเบธ เฮิร์สต)
- อลัน เดอร์โชวิทซ์ (นักวิชาการกฏหมายมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด เคยรับผิดชอบคดีไมค์ ไทสัน)
- ไมเคิ่ล บาร์เดน (อดีตอัยการนิวยอร์ค เคยรับผิดชอบการผ่าศพบาทหลวงคิงก์)

และจากการที่โจกท์เป็นคนผิวขาวและจำเลยเป็นคนผิวดำ ทำให้ปัญหาเรื่องสีผิวถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งของคดี และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความไม่ยุติธรรมขึ้นในภายหลัง แลนซ์ อิโต้ซึ่งเป็นชาวอเมริกาเชื้อสายญี่ปุ่นจึงถูกเลือกขึ้นมาเป็นผู้พิพากษาของคดี

นอกจากนี้ ฝ่ายทนายยังเรียกร้องให้คัดตัวคณะลูกขุนจากเขตที่มีผู้อาศัยเป็นคนผิวดำในเปอร์เซนต์ที่มากกว่า และยังใช้สิทธิ์พิเศษในการปฏิเสธ (สิทธิ์ที่ถูกยอมรับให้ใช้ได้ทั้งฝ่ายทนายจำเลยและอัยการ ให้สามารถคัดตัวบุคคลที่ถูกเลือกมาเป็นลูกขุนออกโดยไม่ต้องแจ้งเหตุผลในจำนวนครั้งที่กำหนดไว้) ทำให้ในคณะลูกขุน 12 คนนั้นเป็นคนผิวดำถึง 9 คน

เนื่องจากคดีดังกล่าวได้รับความสนใจจากคนทั่วไปเป็นอย่างมาก ระหว่างการขึ้นศาลนี้ คณะลูกขุนจึงถูกกักตัวอยู่ในโรงแรม และถูกห้ามไม่ให้อ่านหนังสือพิมพ์หรือดูทีวีได้

มีการหยิบยกคดีนี้ขึ้นมากล่าวผ่านสื่อต่างๆโดยเฉพาะโทรทัศน์กันอย่างกว้างขวาง ทีมอัยการนำเสนอบันทึกโทรศัพท์ที่นิโคลโทรไปขอความช่วยเหลือจากตำรวจเมื่อ 1 มกราคม 1989 และรอยเท้ากับลายนิ้วมือจำนวนมากในที่เกิดเหตุเพื่อชี้ให้เห็นว่าซิมป์สันฆ่านิโคลเพราะความหึงหวง และเขาอยู่ในที่เกิดเหตุในคืนที่นิโคลถูกฆ่า

ในทางกลับกัน ฝ่ายทนายจำเลยชี้ให้เห็นว่าซิมป์สันเป็นเพียงแพะรับบาปของตำรวจ และหลักฐาน DNA ที่ถูกนำเสนอมานั้นถูกมาร์ค เฟิรแมนซึ่งเป็นสารวัตรผู้รับผิดชอบที่เกิดเหตุ (เป็นที่รู้จักกันดีว่ารังเกียจคนผิวดำ) ทำการปลอมแปลงหลักฐานจนไม่สามารถเชื่อถือได้ ซึ่งในจุดนี้เองที่กลายมาเป็นอาวุธสำคัญของฝ่ายดรีมทีม พวกเขาแจกแจงความไม่น่าเชื่อถือของหลักฐานจากฝ่ายอัยการและดึงให้คดีกลายเป็นเรื่องของการเหยียดสีผิว

หลักฐานอันอื้อฉาวอีกชิ้นของคดีนี้ก็คือถุงมือหนังเปื้อนเลือดที่พบในที่เกิดเหตุ ในการขึ้นศาลเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 1995 คอชรันพยายามกระตุ้นให้ดาร์เดนนำถุงมือดังกล่าวมาให้ซิมป์สันลองสวม ซึ่งในข้อนี้ ฝ่ายอัยการได้ตัดสินใจแต่เนิ่นๆแล้วที่จะไม่ทำเช่นนั้น เพราะถุงมือนั้นโชกไปด้วยเลือด ซ้ำยังยับเยินจากการเก็บหลักฐานหลายครั้งหลายหน (แช่แข็งแล้วก็ละลายน้ำแข็ง) ดาร์เดนถูกกำชับจากผู้เชี่ยวชาญว่าต้องไม่ให้ซิมป์สันลองถุงมือแม้ว่ามันน่าจะพอดีมือของเขาในสภาพที่ดีกว่านี้ หากหลังจากการโต้เถียงในกลุ่มอัยการ ดาร์เดนก็ใช้อำนาจในการตัดสินของตัวเอง นำถุงมือมาให้ซิมป์สันลองสวม

ผลปรากฏว่ามันเล็กเกินไปสำหรับมือซิมป์สัน

ทนายจำเลยไม่ปล่อยให้โอกาสทองหลุดรอดไป คอชรันไม่เพียงแต่จะอ้างความไม่น่าเชื่อถือของถุงมือนี้เท่านั้น เขายังโยงมันไปถึงหลักฐานอีกหลายชิ้นของฝ่ายอัยการอีกด้วย
จากการสำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกา ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันส่วนมากเชื่อว่าซิมป์สันไม่ได้ก่อคดีนี้จริงและเชื่อว่าคำตัดสินอาจกลายเป็นการส่งเสริมอำนาจอันไม่เที่ยงธรรมของตำรวจต่อผู้ต้องหา ในขณะที่คนผิวขาวจำนวนมากในแบบสำรวจเดียวกันเชื่อว่าซิมป์สันกระทำผิดจริง

ความขัดแย้งระหว่างสีผิวคุกรุ่นอยู่เบื้องหลังการดำเนินคดีจนมีการเกรงว่าจะเกิดการจลาจลระหว่างสีผิวเช่นเดียวกับที่เคยเกิดในปี 1992*(อ่านรายละเอียดได้ข้างล่างค่ะ)

วันที่ 3 ตุลาคม 1995 เพียง 3 ชั่วโมงหลังการประชุมของคณะลูกขุน ซิมป์สันก็ถูกประกาศต่อหน้าชาวอเมริกัน 150 ล้านคนหน้าจอทีวีว่า "ไม่มีความผิด"

แต่ถึงแม้ว่าซิมป์สันจะรอดจากคดีอาญามาได้ เขาก็ยังถูกฟ้องต่อในคดีแพ่งของโรนัลด์ โกลด์แมน (เฟรด โกลด์แมน พ่อของโรนัลด์เป็นผู้ฟ้อง) มาคราวนี้สถานภาพทางการเงินของซิมป์สันเริ่มคลอนแคลนทำให้เขาไม่สามารถจ้างจอห์นนี่ คอชรันมาเป็นทนายต่อได้ เพื่อนของคอชรันจึงเข้ามารับผิดชอบคดีแทน จะอย่างไรก็ดี จากการที่ไม่มีการนำปัญหาการเหยียดสีผิวมาเป็นอาวุธในศาล การที่คณะลูกขุนเป็นคนผิวขาวมากกว่าคนผิวดำ และการที่ซิมป์สันไม่มาให้การในศาล เขาแพ้คดีแพ่งในที่สุด ซิมป์สันถูกตัดสินให้จ่ายค่าชดเชยให้กับครอบครัวโกลด์แมนรวมเป็นเงิน 8,500,000 ดอลล่าร์ หากเขาก็ไม่มีกำลังทรัพย์พอจะจ่ายได้ ซิมป์สันต้องขายคฤหาสน์ของตนเพื่อรวบรวมเงินมาและสิ้นเนื้อประดาตัวในที่สุด

ขอบคุณ WIKIPEDIA และ คุณหมอ วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี สำหรับข้อมูลดีๆ ค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น